ความเป็นมาของเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา ประชาชนคนไทยและต่างประเทศได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเรียนรู้ เทคนิคเกษตรธรรมชาติคิวเซ หรือเรียกสั้นๆ ว่า "เกษตรคิวเซ" ที่ก่อตั้งโดย ศาสนาจารย์คาซูโอะ วาคุกามิ ประธานมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา ในขณะนั้น โดยนำหลักการ


และแนวการปฏิบัติ 2 แนวทาง มารวมกัน คือ
1. เทคนิคเกษตรธรรมชาติ ของท่านโมกิจิ โอกาดะ ที่ประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2475
2. เทคโนโลยี EM ของ ศาสตราจารย์ ดร.เทรูโอะ ฮิงะ ที่ค้นพบกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจากการศึกษา ค้นคว้า และทดลองระหว่างปี พ.ศ.2510-2525 และพัฒนาต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน

เทคนิคเกษตรธรรมชาติคิวเซ
เป็นเทคนิคการเกษตรไร้สารพิษสารเคมีที่ได้ผลดีอย่างแท้จริง หรือเป็นเทคนิคเกษตรอินทรีย์ชีวภาพที่สมบูรณ์แบบ ได้ผลเร็ว แตกต่างจากเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ความอดทน และรอระยะเวลานาน 5-10 ปี จึงจะได้ผล

คิวเซ มีความหมายว่า "การช่วยเหลือโลก" เกษตรธรรมชาติคิวเซ จึงเป็นเทคนิคเกษตรธรรมชาติที่จะสามารถแก้ปัญหาสำคัญของโลก 5 ประการได้ คือ
1. ผืนดินและที่ทำมาหากิน หรือที่เพาะปลูก เสื่อม
2. สุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค โทรม
3. ภาวะเศรษฐกิจและจิตใจของผู้ผลิตและผู้บริโภค ทรุด
4. สภาพสิ่งแวดล้อม เสีย
5. ระบบนิเวศหรือห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ สูญ
เทคนิคเกษตรธรรมชาติคิวเซ หรือเกษตรคิวเซ จึงเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษา ค้นคว้า ทดลองและพัฒนาเทคนิควิธีอยู่ตลอดเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน

ต่อมา ศาสนาจารย์คาซูโอะ วาคุกามิ จึงได้มีดำริให้มีการตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่เพื่อให้การศึกษาอบรม แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปในท้องที่ต่างๆ ภายนอกศูนย์เกษตรธรรมชาติคิวเซ ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2547


Visitors: 85,822